วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2559

บทที่ 4 สภาวะแวดล้อมทางการตลาด

บทที่ 4

สภาวะแวดล้อมทางการตลาด

 

          สภาวะแวดล้อมทางการตลาด (Marketing Environment) คือ ปัจจัยต่างๆ ที่นักการตลาดไม่สามารถควบคุมได้หรือควบคุมได้เพียงบางส่วน อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงได้อย่างต่อเนื่องและตลอดเวลา และอาจจะเป็นโอกาสหรืออุปสรรคต่อการบริหารการตลาดให้ไม่สามารถสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดได้ จึงนับได้ว่าสภาวะแวดล้อมทางการตลาด มีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินใจทางการตลาดอย่างมาก

          สภาวะแวดล้อมทางการตลาด แบ่งได้เป็น 2 ระดับ คือ สภาวะแวดล้อมระดับมหภาค (Macro Environment) และระดับจุลภาค (Micro Environment) ซึ่งทั้ง 2 ระดับนี้ ล้วนมีผลกระทบต่อการดำเนินงานทางการตลาดในระดับที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นที่ผู้บริหารการตลาดจะต้องทำความเข้าใจในสภาวะแวดล้อมทางการตลาดต่างๆ ให้ได้อย่างถ่องแท้ เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดให้มีความถูกต้องและเหมาะสมต่อสภาวะการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในตลาด

สภาวะแวดล้อมระดับมหภาค (Macro Environment)

          สภาวะแวดล้อมระดับมหภาค จะเป็นปัจจัยให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจหรืออุตสาหกรรมในภาพกว้าง ซึ่งแตกต่างกับสภาวะแวดล้อมในระดับจุลภาค ที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของแต่ละองค์กรเท่านั้น

          โดยสภาวะแวดล้อมระดับมหภาค ที่นักการตลาดควรให้ความสำคัญ จะประกอบด้วย

1.    สภาวะแวดล้อมทางด้านประชากรศาสตร์

2.    สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจ

3.    สภาวะแวดล้อมทางการเมืองและกฎหมาย

4.    สภาวะแวดล้อมทางเทคโนโลยี

5.    สภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติ

6.    สภาวะแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรม

7.    สภาวะแวดล้อมทางการแข่งขัน

          หากพิจารณาองค์ประกอบต่างๆ ข้างต้น จะพบว่าโดยส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นสิ่งที่ผู้บริหารการตลาดไม่สามารถควบคุมได้ แต่ในบางด้านผู้บริหารการตลาดสามารถที่จะเข้าไปมีส่วนผลักดันหรือควบคุมได้ ทั้งในทางตรงและทางอ้อม อาทิ ในองค์กรประกอบด้านสภาวะแวดล้อมทางการแข่งขัน หากองค์กรเป็นผู้นำในตลาด ที่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง จะสามารถกำหนดสภาวะแวดล้อมทางการแข่งขันในตลาดนั้นๆ ได้ เช่น Intel ที่สามารถชี้นำให้ผู้แข่งขันทุกรายในตลาด Microprocessor ทั้ง AMD แล Cyrix จำเป็นต้องพัฒนาสินค้าของตนตามกฎของ Gordon Moore ผู้บริหารของ Intel คือ ทุกๆ 18 เดือน Microprocessor จะสามารถประมวลผลได้เร็วขึ้น 2 เท่า ในขณะที่มีต้นทุนเท่าเดิม

          และในองค์ประกอบด้านสภาวะแวดล้อมทางการเมืองและกฎหมาย ซึ่งมักจะพบข่าวสารการสนับสนุนพรรคการเมือง โดยกลุ่มธุรกิจหรือองค์กรธุรกิจต่างๆ เพื่อให้องค์กรทางการเมืองเหล่านี้ เป็นผู้ผลักดันหรือแก้ไขกฎหมายต่างๆ ในอันที่จะเอื้อประโยชน์หรือลดอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของผู้สนับสนุน เหล่านี้เป็นต้น

1. สภาวะแวดล้อมทางด้านประชากรศาสตร์

          สภาวะแวดล้อมด้านประชากรศาสตร์ คือ ปัจจัยหรือองค์ประกอบเบื้องต้น ที่ผู้บริหารการตลาดจะต้องทำการศึกษาถึงความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพราะประชากร คือ ผู้ซื้อหรือผู้บริโภคสินค้าและบริการขององค์กร หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าเป็น ตลาดขององค์กร ได้เช่นเดียวกัน

          ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงใดที่มีต่อโครงสร้างด้านประชากรศาสตร์ของสังคม จึงล้วนมีผลกระทบต่อการดำเนินงานทางการตลาดทั้งสิ้น ผู้บริหารการตลาดจะต้องศึกษาและติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยหลักการติดตามหรือศึกษาสภาพแวดล้อมด้านประชากรศาสตร์ที่สำคัญ ได้แก่

          - การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างด้านอายุ

          การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างด้านอายุของประชากร จะเป็นเครื่องพยากรณ์ความต้องการของตลาด และทราบถึงขนาดของตลาด รวมถึง พฤติกรรมในการตัดสินใจซื้อในแต่ละช่วงอายุ เหล่านี้จะทำให้ผู้บริหารการตลาดสามารถกำหนดแนวทางการบริหารการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

          ยกตัวอย่าง จากภาพ 4.2 ตารางโครงสร้างประชากรไทย จำแนกตามกลุ่มอายุ จะพบว่าประชากรไทยในวัยทำงานอายุระหว่าง 15 - 59 ปี และผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ประชากรวัยเด็ก มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เหล่านี้ จะสะท้อนให้ผู้บริหารการตลาดสำหรับสินค้าหรือบริการสำหรับประชากรในวัยทำงานและผู้สูงอายุ เช่น เครื่องแต่งกาย รถยนต์ ที่อยู่อาศัย อุปกรณ์อำนวยความสะดวก รวมถึง ธุรกิจด้านการท่องเที่ยว และสินค้าในหมวดสุขภาพ จะมีโอกาสทางการตลาดสูงกว่าสินค้าสำหรับเด็ก เช่น นมผง เสื้อผ้าเด็ก ของเล่น อุปกรณ์การศึกษา ขนมสำหรับเด็ก ฯลฯ ที่ผู้บริหารการตลาดควรเตรียมปรับตัวหรือแสวงหาตลาดใหม่ เพื่อทดแทนตลาดเดิมที่มีแนวโน้มลดลง


ประชากรของประเทศไทย พ.ศ.2559 (25 มกราคม 2559)
ประชากรคาดประมาณ ณ กลางปี 2559 (1 กรกฏาคม)
ชาย
หญิง
รวม
1.
จำนวนประชากรทั้งประเทศ (หน่วยเป็นพัน)
31,728
33,595
65,323
2.
จำนวนประชากรแยกตามที่อยู่อาศัย
(หน่วยเป็นพัน)
เขตเมือง (ประชากรที่อยู่ในเขตเทศบาล และเมืองทุกประเภท)
15,324
16,294
31,618
เขตชนบท (ประชากรที่อยู่นอกเขตเมือง)
16,404
17,301
33,705
3.
จำนวนประชากรแยกตามภาค (หน่วยเป็นพัน)
กรุงเทพมหานคร
3,893
4,205
8,098
ภาคกลาง (ไม่รวมกรุงเทพฯ)
8,993
9,557
18,550
ภาคเหนือ
5,466
5,769
11,235
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
9,038
9,524
18,562
ภาคใต้
4,338
4,540
8,878
4.
จำนวนประชากรแยกตามกลุ่มอายุ (หน่วยเป็นพัน)
ประชากรวัยเด็ก (ต่ำกว่า 15 ปี)
5,950
5,691
11,641
ประชากรวัยแรงงาน (15-59 ปี)
20,955
21,944
42,899
ประชากรสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป)
4,823
5,960
10,783
ประชากรสูงอายุ (65 ปีขึ้นไป)
3,151
4,053
7,204
ประชากรก่อนวัยเรียน (0-5 ปี)
2,275
2,175
4,450
ประชากรวัยเรียน (6-21 ปี)
6,874
6,627
13,501
สตรีวัยเจริญพันธุ์ (15-49 ปี)
16,968
5.
อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด
(จำนวนปีเฉลี่ยที่คาดว่าบุคคลที่เกิดมาแล้วจะมีชีวิตต่อไปอีกกี่ปี)
ชาย71.8 ปี
หญิง 78.6 ปี
6.
อายุคาดเฉลี่ยที่อายุ 60 ปี
(จำนวนปีเฉลี่ยที่คาดว่าผู้ที่อายุ 60 ปีจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกกี่ปี)
ชาย 20.1 ปี
หญิง 23.4 ปี
7.
อายุคาดเฉลี่ยที่อายุ 65 ปี
(จำนวนปีเฉลี่ยที่คาดว่าผู้ที่อายุ 65 ปีจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกกี่ปี)
ชาย 16.4 ปี
หญิง 19.3 ปี
 
8.
อัตราชีพ
อัตราเกิด (ต่อประชากรพันคน)
11.9
อัตราตาย (ต่อประชากรพันคน)
8.0
อัตราเพิ่มตามธรรมชาติ (ร้อยละ)
0.4
อัตราตายทารก (ต่อการเกิดมีชีพพันราย)
10.3
อัตราตายเด็กต่ำกว่า 5 ปี
(ต่อการเกิดมีชีพพันราย)
17.1
อัตราเจริญพันธุ์รวม (จำนวนบุตรโดยเฉลี่ยที่สตรีคนหนึ่งจะมีตลอดวัยเจริญพันธุ์ของตน)
10.
อัตราคุมกำเนิด (ร้อยละ)
9.0
11.
จำนวนครัวเรือน (หน่วยเป็นพัน)
22,065
                                                                                    จำนวน : ล้านคน

      ภาพ 4.1  ประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2559

แหล่งข้อมูลที่ใช้ในการคาดประมาณ

การสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2555 สำนักงานสถิติแห่งชาติ

สำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2553 สำนักงานสถิติแห่งชาติ

การคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2583 โดยคณะทำงานคาดประมาณประชากร คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

การศึกษาและคาดประมาณการความต้องการที่อยู่อาศัยในประเทศไทยในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) การเคหะแห่งชาติ

คำอธิบายข้อมูล

 ประชากรในรายการ 1-4 : ประชากรสัญชาติไทย และประชากรที่ไม่ใช่สัญชาติไทยแต่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน

อัตราเกิด (ต่อประชากรพันคน) : จำนวนเกิดทั้งหมดในปีหนึ่ง หารด้วยจำนวนประชากรทั้งหมดเมื่อกลางปีนั้น คูณด้วย 1,000

อัตราตาย (ต่อประชากรพันคน) : จำนวนตายทั้งหมดในปีหนึ่ง หารด้วยจำนวนประชากรทั้งหมดเมื่อกลางปีนั้น คูณด้วย 1,000

อัตราเพิ่มตามธรรมชาติ (ร้อยละ) : จำนวนเกิดลบด้วยจำนวนตาย หารด้วยจำนวนประชากรทั้งหมดเมื่อกลางปี คูณด้วย 100

อัตราตายทารก (ต่อเด็กเกิดมีชีพพันราย) : จำนวนทารกตายเมื่ออายุต่ำกว่า 1 ปีในปีหนึ่ง หารด้วย จำนวนการเกิดมีชีพทั้งหมดในปีนั้น คูณด้วย 1,000

อัตราตายเด็กต่ำกว่า 5 ปี (ต่อเด็กเกิดมีชีพพันราย) : จำนวนเด็กตายเมื่ออายุต่ำกว่า 5 ปีในปีหนึ่ง หารด้วยจำนวนการเกิดมีชีพทั้งหมดในปีนั้น คูณด้วย 1,000

อัตราเจริญพันธุ์รวม : จำนวนบุตรโดยเฉลี่ยที่สตรีคนหนึ่งจะมีตลอดวัยเจริญพันธุ์ของตน คำนวณได้จากการรวมอัตราเกิดรายอายุของสตรีตลอดวัยเจริญพันธุ์

อัตราคุมกำเนิด : ร้อยละของสตรีอายุ 15 - 49 ปี ที่แต่งงานแล้วและยังอยู่กินกับสามีที่กำลังใช้วิธีคุมกำเนิดชนิดใดชนิดหนึ่งอยู่

ครัวเรือน : ครัวเรือนส่วนบุคคลซึ่งประกอบด้วยบุคคลเดียวหรือหลายคนอยู่รวมกันในที่อยู่อาศัยเดียวกันและ

 ใช้เครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นร่วมกัน


ที่มา : สถาบันวิจัยประชากรและสังคม จัดพิมพ์ "สารประชากร มหาวิทยาลัยมหิดล"

                     - การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างด้านระดับการศึกษา

          ระดับการศึกษาของประชากรไทยที่มีเกณฑ์เฉลี่ยสูงขึ้น ย่อมหมายถึงความสามารถในการประกอบอาชีพที่ดีขึ้นและมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น จึงหมายถึงอำนาจซื้อในตลาดที่จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย พร้อมกับพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการที่จะมีควาพิถีพิถันมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้น ผู้บริหารการตลาดจึงควรหมั่นศึกษาถึงพฤติกรรมการบริโภคภายในตลาดอย่างต่อเนื่อง

          - การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางครอบครัว

          จะสังเกตการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางครอบครัว ได้จาก 2 ปัจจัยสำคัญ คือ ด้านอายุของคู่สมรส และขนาดของครัวเรือน กล่าวคือ ในอดีตสังคมไทยจะนิยมการมีครอบครัวตั้งแต่อายุยังน้อย (เฉลี่ยอายุประมาณ 15 - 17 ปี) และอาศัยกันเป็นครอบครัวใหญ่หรือครอบครัวขยาย เพราะสภาพสังคมไทยในอดีต ต้องการแรงงานในครัวเรือนจำนวนมาก เพื่อช่วยงานด้านเกษตรกรรมของครอบครัว แต่ในปัจจุบัน โครงสร้างทางครอบครัวของสังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งในด้านอายุของคู่สมรสที่เพิ่มสูงขึ้น (เฉลี่ยอายุ 25 - 35 ปี) และขนาดของครอบครัวที่เล็กลง อันเกิดจากการแยกตัวของสมาชิกในครอบครัว หลังการแต่งงานแล้ว เหล่านี้ เป็นเพราะสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปนั่นเอง

          การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ผู้บริหารการตลาดจะสามารถนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการบริหารงานด้านการตลาดให้มีประสิทธิภาพได้ เช่น การสื่อสารกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง จะต้องเน้นสารที่มีความเหมาะสมกับกลุ่มบุคคลที่มีอายุระหว่าง 25 - 35 ปี และมีความต้องการแต่สิ่งที่ดีที่สุดแก่ลูกของตน รวมถึง การปรับขนาดของผลิตภัณฑ์ให้มีความเหมาะสมต่อการใช้ภายในครัวเรือนที่ประกอบขึ้นด้วย พ่อ แม่และลูก เป็นต้น

          - การย้ายถิ่นฐาน

          ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สังคมไทยได้มีการอพยพย้ายถิ่นฐานของประชากรจากชนบท เพื่อมาประกอบอาชีพและอาศัยในเขตเมืองใหญ่มากขึ้น จึงทำให้ตลาดภายในเขตเมืองเหล่านี้ มีขนาดและกำลังซื้อที่มากกว่าตลาดในเขตชนบท ซึ่งผู้บริหารการตลาดสามารถนำปัจจัยดังกล่าว มาเป็นเครื่องกำหนดพื้นที่การดำเนินงานทางการตลาดให้กับสินค้าหรือบริการไปสู่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

          สำหรับข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสภาวะแวดล้อมด้านประชากรศาสตร์ ทั้งในด้านจำนวนประชากร จำนวนครัวเรือน และรายได้เฉลี่ยของแต่ละครัวเรือนในแต่ละพื้นที่ รวมถึง โครงสร้างอายุ และอื่นๆ ผู้บริหารการตลาดสามารถที่จะจัดหามาประกอบการดำเนินงานทางการตลาดได้จากหน่วยงานภาครัฐต่างๆ เช่น สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้ หรือจะดำเนินการจัดหาจากกระบวนการจัดเก็บข้อมูลการตลาด ด้วยวิธีการต่างๆ ดังได้กล่าวถึงในบทที่ 2 ที่ผ่านมา

          2. สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจ

          ในปัจจุบันสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจ มีผลกระทบต่อการดำเนินงานทางการตลาดขององค์กรได้อย่างมีนัยสำคัญ เช่นในช่วงเวลาที่ผ่านมา (พ.ศ. 2557-2559) อันเป็นช่วงวิกฤติเศรษฐกิจและการเมือง ของประเทศไทยและของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและภาวะเศรษฐกิจโลก  ซึ่งส่งผลทางจิตวิทยาให้ผู้บริโภคในตลาดเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคสินค้าหรือบริการไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง กระทั่งผู้บริหารการตลาดจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น เหล่านี้ คือตัวอย่างความสำคัญขององค์ประกอบด้านสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ที่ผู้บริหารการตลาดจะต้องให้ความสนใจที่จะศึกษาและติดตามอย่างต่อเนื่อง

          โดยปัจจัยที่จะใช้เป็นแนวทางการในการศึกษาสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ได้แก่

          - อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ

          นับเป็นปัจจัยหลักในการศึกษาสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจ โดยมีตัวแปรหลักที่สำคัญในการศึกษา คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) และผลิตภัณฑ์ประชาชาติ (Gross National Product : GNP) ซึ่งตัวแปรทั้งสองนี้ จะเป็นเครื่องวัดอำนาจซื้อในตลาดที่สำคัญประการหนึ่ง กล่าวคือ หากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมีค่าเฉลี่ยสูง ย่อมแสดงถึงอำนาจซื้อในตลาดที่จะสูงขึ้น แต่ในทางตรงกันข้ามที่เมื่อใดสภาพเศรษฐกิจของประเทศมีอัตราการเติบโตที่ต่ำหรือมีค่าติดลบ ย่อมเป็นเครื่องแสดงถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นภายในตลาด เช่น ปัญหาการว่างงานที่จะส่งผลให้อำนาจซื้อและความต้องการบริโภคสินค้าหรือบริการในตลาดลดต่ำลง ในขณะที่อัตราการแข่งขันในตลาดโดยรวมจะค่อนข้างรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันทางด้านราคา เพื่อการรักษาและช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดที่ลดขนาดลง

          - อัตราเงินเฟ้อ

          อัตราเงินเฟ้อจะเกิดขึ้นจากราคาสินค้าหรือบริการ ซึ่งคำนวณจากดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index : CPI) มีการปรับตัวสูงกว่าอัตรารายได้ที่เพิ่มขึ้นของประชากรในประเทศ เป็นผลให้อำนาจซื้อในตลาดลดลง และส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อระดับราคาของสินค้าหรือบริการในตลาด ดังนั้น ในช่วงที่เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง การดำเนินงานทางการตลาดจะมีความยากลำบากขึ้น

          อย่างไรก็ตาม ระบบเศรษฐกิจของประเทศที่ต้องการรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพนั้น ควรจะมีอัตราเงินเฟ้อประมาณร้อยละ 3 - 4 ต่อปี เพื่อเป็นการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ

 

 

          - อัตราดอกเบี้ย

          อัตราดอกเบี้ย จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค และมีผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจด้านอื่นๆ ของภาคธุรกิจอย่างมากด้วยเช่นกัน กล่าวคือ หากอัตราดอกเบี้ยต่ำ ผู้บริโภคจะนำเงินออมออกมาจับจ่ายเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการมากขึ้น ในทางตรงกันข้ามถ้าอัตราดอกเบี้ยสูง จะจูงใจให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายลง เพื่อหวังผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยหรือการลงทุนในตราสารทางการเงินอื่นๆ

          สำหรับการดำเนินงานทางการตลาดในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยสูง ตลาดจะมีการแข่งขันที่รุนแรงจากคู่แข่งขันแต่ละราย ในขณะที่ช่วงเวลาใดที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ ผู้บริหารการตลาดจะสามารถนำปัจจัยด้านอัตราดอกเบี้ยมาใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมการตลาดได้ เช่น การรณรงค์ซื้อสินค้าเงินผ่อนได้โดยไม่มีดอกเบี้ย ซึ่งมีสินค้าหลายชนิดและหลายประเภท เช่น รถยนต์ บ้าน ห้องชุด (Condominium) เหล่านี้เป็นต้น ที่ผู้บริหารการตลาดได้นำอัตราดอกเบี้ยมากระตุ้นความสนใจในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          - การจ้างงาน และอัตราค่าจ้าง

          การจ้างงานและอัตราค่าจ้าง จะมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสภาวะแวดล้อมด้านประชากรศาสตร์ที่ได้กล่าวถึงในข้างต้น และยังสามารถส่งผลกระทบต่อการบริหารและจัดการขององค์กรได้อย่างมากด้วยเช่นกัน กล่าวคือ เมื่อมีการจ้างงานในอัตราค่าจ้างที่กำหนดในแต่ละภูมิภาค ย่อมหมายถึงการเพิ่มขึ้นของอำนาจซื้อในตลาดตามสัดส่วนของการจ้างงานและค่าจ้าง แต่การจ้างงานและอัตราค่าจ้างจะมีผลให้ราคาของสินค้าหรือบริการสูงขึ้นได้เช่นกัน และหากราคาของสินค้าหรือบริการสูงขึ้นในสัดส่วนที่ไม่สัมพันธ์กับการจ้างงานและอัตราค่าจ้าง จะเป็นเหตุให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจได้

          สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ล้วนมีผลกระทบต่อการดำเนินงานทางการตลาด โดยเฉพาะในด้านที่เกี่ยวกับอำนาจซื้อภายในตลาด และผลทางจิตวิทยาเกี่ยวกับการบริโภคสินค้าหรือบริการของผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงในปัจจัยด้านใดด้านหนึ่ง จะส่งผลกระทบไปสู่ปัจจัยอื่นๆ ได้ เช่นเดียวกับสภาวะแวดล้อมทางด้านประชากรศาสตร์อีกด้วย
นอกจากนี้ ระบบเศรษฐกิจยุคดิจิตอล ที่เชื่อมโยงเครือข่ายการติดต่อสื่อสาร และการค้าการลงทุนอย่างไร้พรมแดน จึงสามารถที่จะก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจภายในประเทศ จากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากต่างประเทศได้ เช่น การประกาศลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางแห่งชาติสหรัฐอเมริกา สามารถส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ได้ทั่วโลก เหล่านี้เป็นต้น 
          ด้วยเหตุนี้ ผู้บริหารการตลาดจึงไม่ควรติดตามและศึกษาถึงสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจภายในประเทศเพียงด้านเดียว เพราะอาจจะไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจดำเนินงานทางการตลาดในยุคเศรษฐกิจดิจิตอลได้ หากแต่ควรที่จะติดตามและศึกษาความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศหรือกลุ่มประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนกับประเทศไทยประกอบด้วย
          3. สภาวะแวดล้อมทางการเมืองและกฎหมาย
          การดำเนินงานทางการตลาดในปัจจุบัน ผู้บริหารการตลาดจำเป็นที่จะต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นทางการเมืองและกฎหมาย ทั้งภายในและภายนอกประเทศอย่างใกล้ชิด เพราะความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากปัจจัยดังกล่าว อาจจะหมายถึงโอกาสหรืออุปสรรคต่อการดำเนินงานทางการตลาดได้ ยกตัวอย่างเช่น พระราชบัญญัติเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในปี พ.ศ. 2541 ซึ่งหนึ่งในพระราชบัญญัตินั้น คือ การเปิดโอกาสให้บุคคลที่เป็นชาวต่างชาติสามารถถือครองที่ดินหรือมีกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดได้มากกว่าในอดีต ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องภายในประเทศขยายตัวขึ้นได้ จากอำนาจซื้อจากต่างประเทศ หรือการเข้าสู่กระบวนการการค้าเสรีขององค์การการค้าโลกของไทย ซึ่งจะเป็นโอกาสในการขยายตลาดไปสู่ตลาดต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้น แต่นั่นย่อมหมายถึงการเกิดขึ้นของคู่แข่งขันรายใหม่จากต่างประเทศ ที่จะเข้าสู่ตลาดภายในประเทศได้มากขึ้นจากเงื่อนไขเดียวกันนี้ด้วย เป็นต้น
          การศึกษาถึงผลกระทบต่อการดำเนินงานทางการตลาด จากสภาวะแวดล้อมทางการเมืองและกฎหมาย สามารถพิจารณาและติดตามจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้
 
 
- นโยบายของรัฐบาล
          นโยบายของรัฐบาลที่ควรติดตามอย่างต่อเนื่อง คือ นโยบายด้านเศรษฐกิจภายในประเทศ เช่น การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี และมาตรการทางการเงินและการคลัง ฯลฯ ซึ่งล้วนมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้น รวมถึง การดำเนินนโยบายด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ ภายใต้กรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เช่น การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซี่ยน AEC อันประกอบไปด้วย ประเทศไทย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, บรูไน, เวียดนาม, ลาว, กัมพูชา และเมียนมาร์ หรือพม่า สิงคโปร์ ได้ส่งเสริมให้การค้าระหว่างประเทศสมาชิกขยายตัวเพิ่มมากขึ้น จึงนับเป็นโอกาสทางการตลาดสำหรับนักการตลาดในการขยายตลาดไปยังประเทศต่างๆ ในกลุ่ม AEC นอกจากประโยชน์ลัว ปัญหาที่อาจตามมาก็มีเช่นเดียวกันโดยเฉพาะการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น หลังจากที่มีปัญหาทางการเมืองในประเทศไทยมานับสิบปี ทำให้ประเทศต่าง ๆ ในAEC ได้พ้ฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ธุรกิจไทยได้ไปลงทุนในประเทศดังกล่าวมากขึ้น และธุรกิจต่างชาติที่มาลงทุนในไทยก็มีการย้ายฐานการผลิต ไปยังประเทศเพื่อบ้านเราเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้การที่ประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตยทำให้ประชาคมโลกจำกัดการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย ตลอดจนปัญหาด้านแรงงานต่างด้าว ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน ปัญหาเรื่องการบิน ทำให้การบริหารการตลาดของไทย มีปัญหามาก จนทำให้เกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจ และสังคมตามมา เหล่านี้เป็นต้น
          - ระเบียบข้อบังคับและกฎหมาย
ระเบียบข้อบังคับและกฎหมาย เป็นกรอบที่จำกัดกิจกรรมทางการตลาดของนักการตลาด โดยมีความสัมพันธ์หรือที่มาจากนโยบายของรัฐบาลด้วยส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มพลังมวลชนต่างๆ ที่เรียกร้องหรือผลักดันให้เกิดระเบียบข้อบังคับและกฎหมายขึ้น เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายเกี่ยวกับการต่อต้านการผูกขาด และการโฆษณาเกินจริง กฎหมายในเรื่องคอมพิวเตอร์ การใช้อินเตอร์เนต แต่ก็ยังมีนโยบายภาครัฐที่ทำให้โอกาสทางการตลาดเพิ่มมากขึ้น เช่นระบบพร้อมเพย์ ที่เป็นการโอนเงินของประเทศสู่ระบบดิจิตอล สร้างโอกาสให้ธนาคารต่าง ๆ ได้หาลูกค้ามากขึ้น มีกลยุทธ์ทางการตลาดให้กับลูกค้าของธนาคารเพิ่มมากขึ้นเหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งผู้บริหารการตลาดควรทำการศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบ ก่อนเริ่มดำเนินการใดๆ
          - กลุ่มพลังมวลชน
          กลุ่มพลังมวลชน เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ผู้บริหารการตลาดในปัจจุบัน ควรให้ความสนใจต่อการเคลื่อนไหว เพื่อเรียกร้องหรือต่อต้านการดำเนินการใดๆ ที่กลุ่มพลังเหล่านี้ เห็นว่าเป็นการขัดต่อสิทธิอันพึงมีพึงได้ของสังคมหรือสมาชิกภายในกลุ่ม ซึ่งการเคลื่อนไหวของกลุ่มพลังมวลชนบางกลุ่มสามารถกดดันรัฐบาลให้ดำเนินมาตรการหรือนโยบายในอันที่จะสนองต่อความต้องการของกลุ่มได้เช่น กลุ่มชาวบ้านที่นิยมนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค แม้ว่าหมอจะไม่พอใจ หรือรัฐบาลอื่น ๆ จะไม่พอใจนโยบายของพรรคไทยรักไทย แต่ก็ไม่สามารถยกเลิกได้ แม้จะมีความพยายามจะเลิกในหลาย ๆ รัฐบาล หรือกลุ่มหมอชาวบ้าน ที่จะเป็นผู้รณรงค์ให้ประชาชนในสังคมเลิกสูบบุหรี่ และคอยผลักดันให้รัฐบาลออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ และห้ามจำหน่ายบุหรี่ให้แก่เด็กที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด กระทั่ง สามารถผ่านการเห็นชอบและประกาศเป็นกฎหมายให้มีผลบังคับใช้ในสังคมได้ เป็นต้น
          4. สภาวะแวดล้อมทางเทคโนโลยี
          ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา เทคโนโลยีได้ก่อให้เกิดการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ของโลกอย่างมาก เนื่องจากเทคโนโลยีถูกปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดนวัตกรรมใหม่เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อายุของผลิตภัณฑ์ในตลาดสั้นลง เหล่านี้ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคและการดำรงชีวิตของมนุษยชาติอย่างยิ่งยวด โดยตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางเทคโนโลยี ที่มีผลต่อการดำเนินงานทางการตลาด มีดังนี้
          - การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีทางการสื่อสาร
ปัจจุบันโลกแห่งการสื่อสารได้เปิดกว้างขึ้นอย่างไร้พรมแดน จากระบบการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ทั้งการสื่อสารผ่านดาวเทียม และระบบใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของเครือข่าย Internet และรูปแบบการค้าในยุคเศรษฐกิจใหม่ เช่น E - Commerce หรือ E - Business ที่จะได้กล่าวถึงอย่างละเอียดถึงอรรถประโยชน์ของเครือข่าย Internet ที่มีต่อการดำเนินงานทางการตลาดในส่วนต่อไป
          - การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีด้านกระบวนการผลิต
เทคโนโลยีใหม่และระบบคอมพิวเตอร์ที่นำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม ทำให้การผลิตสินค้าหรือบริการมีความยืดหยุ่นต่อการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคแต่ละคนได้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศญี่ปุ่น บริษัทผู้ผลิตรถยนต์แห่งหนึ่งจะทำการผลิตรถยนต์ เมื่อได้รับคำสั่งซื้อและรายละเอียดเกี่ยวกับแบบ, สี และชิ้นส่วนประกอบต่างๆ ของรถยนต์ตามความพอใจจากผู้ซื้อ จากนั้นคำสั่งซื้อและข้อมูลต่างๆ จะถูกส่งไปยังโรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วนของรถยนต์คันนั้นๆ เพื่อผลิตและจัดส่งชิ้นส่วนเหล่านั้น มายังโรงงานประกอบตัวถังเป็นรถยนต์ต่อไป โดยใช้เวลาตลอดกระบวนดังกล่าวนี้ เพียง 1 สัปดาห์ ทำให้ผู้ซื้อสามารถเลือกแบบของรถยนต์ได้ตามความต้องการที่แตกต่างกันนับพันๆ แบบ สำหรับรถยนต์ 1 รุ่นจากผู้ผลิต และผู้ผลิตสามารถลดต้นทุนด้านสินค้าคงคลัง และความเสี่ยงจากการที่สินค้าล้าสมัยหรือจำหน่ายไม่ได้
          ด้วยปัจจัยด้านความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดังกล่าวข้างต้น หากผู้บริหารการตลาดไม่สามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที อาจจะนำมาซึ่งการสูญเสียโอกาสทางการตลาดที่สำคัญให้แก่คู่แข่งขันในตลาดได้
          5. สภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติ
          สภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติ นับเป็นสภาวะแวดล้อมทางการตลาดที่ผู้บริหารการตลาดไม่สามารถจะควบคุมได้ และยากต่อการคาดคะเนถึงเหตุการณ์และเวลาที่จะเกิดขึ้นอีกด้วย ได้แก่
          -  การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล
          การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล อาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบที่มีแหล่งที่มาจากธรรมชาติ เช่น การเกิดปัญหาฝนแล้ง ที่จะนำมาสู่ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคหรือบริโภค และใช้เพื่อการเกษตร หรือในอุตสาหกรรมที่มีน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต จะไม่สามารถดำเนินการผลิตได้ตามวัตถุประสงค์ แต่ขณะเดียวกันปัญหาฝนแล้ง จะสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับสินค้าที่เกี่ยวเนื่องได้ เช่น สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำถังเก็บน้ำ และเครื่องสูบน้ำ หรือน้ำท่วมซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ทำให้เกิดปัญหาใหญ่จนต้องเตรียมงบประมาณนับแสนล้านเพื่อป้องกันเป็นต้น
 
          -  การเพิ่มขึ้นของระดับมลพิษ
          มลพิษเป็นปัญหาสำคัญที่นำไปสู่ข้อจำกัดหรือการเพิ่มต้นทุนทางการตลาดให้กับสินค้าบางชนิดที่มีส่วนทำให้เกิดมลพิษได้ เช่น ผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง จำเป็นต้องเพิ่มต้นทุนด้านการวิจัย เพื่อผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษมากนักหรือเป็นน้ำมันไร้สารตะกั่ว ในขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ จะผลิตรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่สามารถใช้น้ำมันเชื้อเพลิงไร้สารตะกั่วได้โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบของเครื่องยนต์แต่อย่างไร เหล่านี้เป็นต้น แต่ในท้ายที่สุด ทั้งผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงและผู้ผลิตรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์เหล่านี้ จะนำความรับผิดชอบของตนที่มีต่อปัญหาด้านมลพิษ มาดำเนินงานด้านการตลาดเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ขององค์กรให้เป็นที่ยอมรับของสังคมมากขึ้นในที่สุด
          - ภัยธรรมชาติ
          ภัยธรรมชาติต่างๆ เช่น น้ำท่วม เกิดพายุ ไฟไหม้ป่า ฯลฯ แม้จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่อการดำเนินงานทางธุรกิจโดยตรง (ในกรณีที่ตั้งขององค์กรอยู่นอกพื้นที่ประสบภัยธรรมชาติ) สามารถสร้างโอกาสให้แก่สินค้าประเภทอาหารแห้ง อาหารกระป๋อง หรืออุปกรณ์ป้องกันภัยธรรมชาติประเภทต่างๆ เช่น กระสอบใส่ทราย เครื่องสูบน้ำ และอุปกรณ์ก่อสร้าง เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว ปัญหาภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นซ้ำซ้อนในพื้นที่หนึ่งๆ ยังเป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์จากการย้ายถิ่นฐานของประชากร ซึ่งผู้บริหารการตลาดจะต้องศึกษาปัจจัยดังกล่าวอย่างใกล้ชิดด้วย
          6. สภาวะแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรม
          สภาวะแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรม จะมีผลกระทบต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการของผู้บริโภคในตลาดอย่างมีนัยสำคัญ เช่น การตื่นตัวด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การตื่นตัวต่อการรักษาสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวัน เป็นต้น ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ผู้บริหารการตลาดจะต้องติดตามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างใกล้ชิด เพราะเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ขึ้นในสังคม สินค้าหรือบริการขององค์กร จำเป็นที่จะต้องปรับปรุงให้มีความสอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ด้วย เช่น แมคโดนัลด์เปลี่ยนกล่องโฟมที่ใส่แฮมเบอร์เกอร์เป็นกล่องกระดาษ ซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ จำเป็นต้องจัดพื้นที่ส่วนหนึ่งสำหรับการจำหน่ายผักปลอดสารพิษ หรือการเพิ่มบริการจัดส่งสินค้า (Delivery) ตามสั่งให้ถึงสถานที่ที่ต้องการของผู้บริโภค จากผู้ผลิตสินค้าประเภทต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น
          7. สภาวะแวดล้อมทางการแข่งขัน
          ถือเป็นสภาวะแวดล้อมที่สามารถสร้างผลกระทบต่อการดำเนินงานทางการตลาดขององค์กรได้โดยตรง และในบางโอกาสองค์กรจะสามารถควบคุมสภาวะการแข่งขันในตลาดได้ หากสามารถพัฒนาสินค้าหรือบริการให้เป็นที่ยอมรับของตลาดหรือแม้แต่คู่แข่งขัน เช่นในกรณีของ Intel ดังที่ได้ยกตัวอย่างในข้างต้น โดยมีลักษณะของการแข่งขันที่ผู้บริหารการตลาดควรทราบ ดังนี้
          - องค์ประกอบของการเปลี่ยนแปลงทางการแข่งขัน ประกอบด้วย
          1. การเปลี่ยนกลยุทธ์ของคู่แข่งขัน เช่น การใช้กลยุทธ์ด้านราคาของรถยนต์ฮอนด้า แจส ที่ทำให้ผู้นำตลาดรถยนต์ในประเทศไทย คือ โตโยต้า ต้องปรับกลยุทธ์ด้วยการนำรถยนต์โตโยต้า ยารีสที่มีราคาใกล้เคียงกันเข้าสู่ตลาด เพื่อแข่งขันในตลาดรถยนต์ประเภทซิตี้คาร์ เป็นต้น
          2. การเข้าสู่ตลาดของคู่แข่งขันรายใหม่ ในองค์ประกอบด้านนี้ จะพิจารณาถึงศักยภาพของคู่แข่งขันรายใหม่ และลักษณะการกระจายสัดส่วนการถือครองส่วนแบ่งทางการตลาดประกอบด้วย กล่าวคือ หากคู่แข่งขันไม่มีศักยภาพทางการแข่งขัน-มากนัก และตลาดมีการกระจายสัดส่วนการครองตลาดสูง การเข้าสู่ตลาดของคู่แข่งขันรายใหม่จะไม่สร้างผลกระทบในตลาดมากนัก
          3. การออกจากตลาดของคู่แข่งขัน จะทำให้เกิดช่องว่างทางการตลาด และเป็นสาเหตุสำคัญให้ตลาดเกิดคู่แข่งขันรายใหม่ขึ้น
          - ลักษณะการแข่งขันในตลาด ประกอบด้วย
          1. การแข่งขันระหว่างตรายี่ห้อ (Brand Competitors) คือ การแข่งขันระหว่างสินค้าหรือบริการที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน เช่น แชมพูแฟซ่า ซันซิล คลินิค หรือรถยนต์นิสสัน โตโยต้า ฮอนด้า ฟอร์ด หรือมาสด้า เป็นต้น
          2. การแข่งขันที่เกิดจากสินค้าที่ทดแทนกันได้ (Generic Competitors) หมายถึง สินค้าหรือบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้เช่นเดียวกัน เช่น รถยนต์เก๋งและรถตู้ (Van) หรือแม้จะเป็นสินค้าหรือบริการต่างประเภทและต่างชนิดกัน แต่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้เช่นเดียวกัน เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกับร้านอาหาร คอมพิวเตอร์กับ แทปแลต หรือสมาร์ทโฟน เป็นต้น
          3. การแข่งขันที่เกิดจากสินค้าหรือบริการอื่นๆ (Disire Competitors) องค์ประกอบดังกล่าว จะเกิดขึ้นจากข้อจำกัดด้านอำนาจซื้อของผู้บริโภคในการจะจัดหาสินค้าหรือบริการมาตอบสนองความต้องการของตน เช่น หากผู้บริโภคมีเงิน 1 ล้านบาท เมื่อตัดสินใจซื้อรถยนต์ เขาจะไม่มีเงินเหลือพอที่จะซื้อบ้านได้อีก ดังนั้น รถยนต์และบ้านจึงถือเป็นคู่แข่งขันทางอ้อมระหว่างกัน เป็นต้น
สภาวะแวดล้อมระดับจุลภาค (Micro Environment)
          สภาวะแวดล้อมระดับจุลภาค จะมีความแตกต่างจากสภาวะแวดล้อมระดับมหภาค ในด้านระดับของการสร้างผลกระทบ กล่าวคือ สภาวะแวดล้อมระดับจุลภาคจะสร้างผลกระทบต่อการดำเนินงานทางการตลาดให้เกิดขึ้นภายในองค์กรเท่านั้น ไม่ได้มีผลกระทบทั่วทั้งอุตสาหกรรมหรือทั้งธุรกิจเช่นในระดับมหภาคที่ได้กล่าวถึงมาแล้ว
          ปัจจัยที่จะสร้างผลกระทบต่อการดำเนินงานทางการตลาดขององค์กร ในระดับจุลภาค คือ
          1. สภาวะแวดล้อมภายในองค์กร
          2. สภาวะแวดล้อมของสถาบันกลางทางการตลาด
          3. สภาวะแวดล้อมของผู้จำหน่ายวัตถุดิบ
          4. สภาวะแวดล้อมของสถาบันประเภทต่างๆ ในตลาด
          5. สภาวะแวดล้อมของผู้บริโภคหรือตลาด
          ในองค์ประกอบทั้ง 5 ข้างต้น จะมีสภาวะแวดล้อมภายในองค์กร ซึ่งจัดเป็นสภาวะแวดล้อมที่สามารถควบคุมให้เป็นไปตามแผนงานทางการตลาดได้ แต่สภาวะแวดล้อมอื่นๆ จะไม่สามารถควบคุมได้โดยปราศจากเงื่อนไข เช่น ในบางกรณีจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการเจรจาต่อรองและการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรให้เป็นที่ประจักษ์ของสังคม ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะเกิดขึ้นได้ด้วยแผนงานทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพเป็นสำคัญ
1. สภาวะแวดล้อมภายในองค์กร
          โดยทั่วไป ภายในองค์กรหนึ่งๆ จะประกอบขึ้นด้วยฝ่ายงานต่างๆ เช่น ฝ่ายผลิต ฝ่ายขาย ฝ่ายการตลาด ฝ่ายการเงิน ฝ่ายธุรการ เป็นต้น บางองค์กรอาจจะมีมากกว่าหรือน้อยกว่านี้ ขึ้นอยู่กับการจัดโครงสร้างการบริหารงาน และขนาดขององค์กรแต่ละแห่ง
          ในการดำเนินงานทางการตลาดขององค์กรนั้น จะไม่ใช่บทบาทและหน้าที่ของฝ่ายการตลาดแต่เพียงลำพังเท่านั้น แต่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายงานต่างๆ ในองค์กรร่วมด้วย การดำเนินงานการตลาดจึงจะเกิดประสิทธิภาพ และสามารถสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่กำหนด เช่น ฝ่ายผลิตจะต้องผลิตสินค้าหรือบริการตามคำแนะนำของฝ่ายการตลาด ที่เชื่อว่าจะทำให้สินค้าหรือบริการนั้นๆ เป็นที่ต้องการของตลาดได้ หรือฝ่ายขายจะนำสินค้าหรือบริการขององค์กรไปจำหน่ายตามแผนงานต่างๆ ที่ฝ่ายการตลาดได้กำหนดขึ้น ทั้งในด้านกลุ่มเป้าหมาย พื้นที่การขาย และการส่งเสริมการขาย หรือฝ่ายการเงินและฝ่ายธุรการจะทำหน้าที่ในการสนับสนุนด้านการบริหารการเงินและบุคลากร เพื่อให้การดำเนินงานด้านการตลาดขององค์กรประสบผลสำเร็จตามแผนงาน
          จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า การดำเนินงานทางการตลาดขององค์กรจะต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นเอกภาพจากฝ่ายงานต่างๆ จึงจะสามารถดำเนินการให้สำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด
          อย่างไรก็ตาม สภาวะแวดล้อมภายในองค์กรจะแตกต่างจากสภาวะแวดล้อมด้านอื่นๆ เนื่องจากสภาวะแวดล้อมดังกล่าว สามารถควบคุมและปรับเปลี่ยนให้แต่ละฝ่ายงานมีการดำเนินงานในอันที่จะสนับสนุนการดำเนินงานด้านการตลาดได้ โดยผ่านกลไกทางการบริหารและจัดการของแต่ละองค์กร
          2. สภาวะแวดล้อมของสถาบันกลางทางการตลาด
          สถาบันกลางทางการตลาด (Marketing Intermediate) ประกอบด้วย ตัวแทนจำหน่าย ผู้ทำหน้าที่จัดกระจายสินค้า ผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก และอื่นๆ ที่มีบทบาทและหน้าที่ในการเป็นสื่อกลางของการนำสินค้าหรือบริการขององค์กร ไปจัดจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคต่อไป ซึ่งในรายละเอียดด้านบทบาทและหน้าที่ของตัวกลางทางการตลาดเหล่านี้ จะกล่าวถึงอย่างละเอียดในบทที่ว่าด้วยการวางแผนกลยุทธ์การกระจายสินค้า
          สถาบันกลางทางการตลาดในปัจจุบัน ได้มีพัฒนาการต่างจากอดีตอย่างมาก โดยเฉพาะภายหลังการเข้าสู่ตลาดของกิจการค้าสมัยใหม่ (Modern Trade) จากต่างประเทศ เช่น 7-Eleven, Macro, Tesco Lotus, Carefoure และ Big C ซึ่งได้นำระบบการจัดการสินค้าที่มีประสิทธิภาพเข้ามาดำเนินการในประเทศไทย และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคในประเทศไทยอย่างมากภายในช่วงเวลาสั้นๆ พร้อมทั้งยังได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบทางการค้ากับผู้ผลิตสินค้าภายในประเทศที่ต้องการนำสินค้าหรือบริการของตนไปจำหน่ายโดยผ่านสถาบันกลางทางการตลาดเหล่านี้ เช่น การกำหนดค่าใช้จ่ายในการนำสินค้าหรือบริการเข้าไปจำหน่ายผ่านช่องทางการจำหน่ายของสถาบันกลางเหล่านี้ หรือการกำหนดยอดขายให้ผู้ผลิตสินค้าหรือบริการจะต้องดำเนินการกระตุ้นให้เกิดขึ้น และจัดสรรส่วนแบ่งจากการขายให้แก่สถาบันกลางทางการตลาด เหล่านี้เป็นต้น
          แม้ว่าเงื่อนไขการจัดจำหน่ายผ่านสถาบันกลางทางการตลาดสมัยใหม่เหล่านี้ จะเป็นเสมือนการเอาเปรียบผู้ผลิตสินค้าหรือบริการอย่างเห็นได้ชัด แต่หากผู้บริหารการตลาดละเลยที่จะอาศัยศักยภาพของสถาบันกลางเหล่านี้ ในการทำหน้าที่จัดกระจายสินค้าหรือบริการของตน อาจจะนำมาซึ่งการเสียโอกาสทางการตลาดแก่คู่แข่งขันที่จัดจำหน่ายผ่านสถาบันกลางนี้ได้
          3. สภาวะแวดล้อมของผู้จำหน่ายวัตถุดิบ
          ผู้จำหน่ายวัตถุดิบ (Suppliers) จะสามารถสร้างผลกระทบต่อการดำเนินงานขององค์กรในด้านการผลิต และจะส่งผลมาสู่การดำเนินงานด้านการตลาดในที่สุด ซึ่งโดยทั่วไปจะเกิดปัญหาจากความล่าช้า และการไม่ได้มาตรฐานของวัตถุดิบ
          ยกตัวอย่างเช่น ในฤดูร้อน ความต้องการเครื่องปรับอากาศในตลาดจะสูง แต่หาก Suppliers ของผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศ ไม่สามารถจัดส่งวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนการผลิตเครื่องปรับอากาศได้ตามปริมาณที่ต้องการของตลาด จะส่งผลให้ผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศต้องเสียโอกาสทางการตลาดได้
          อย่างไรก็ตาม การติดต่อดำเนินการค้าระหว่างองค์กรและผู้จำหน่ายวัตถุดิบโดยทั่วไป อำนาจการเจรจาต่อรองจะตกอยู่กับผู้ซื้อ แต่ในบางกรณีที่วัตถุดิบมีจำกัด แต่มีองค์กรผู้ผลิตสินค้าหรือบริการจำนวนมาก อำนาจการเจรจาต่อรองจะกลับไปอยู่กับผู้จำหน่ายวัตถุดิบ ซึ่งจะเป็นไปตามกฎอุปสงค์และอุปทานของตลาด ฉะนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการสูญเสียโอกาสทางการตลาดจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากผู้จำหน่ายวัตถุดิบ องค์กรจึงควรดำเนินการภายใต้ความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน
          4. สภาวะแวดล้อมของสถาบันประเภทต่างๆ ในตลาด
          ในสภาวะแวดล้อมข้างต้น จะประกอบด้วยองค์กรวิจัยการตลาด ตัวแทนโฆษณา สื่อโฆษณา ผู้ให้คำปรึกษาทางการตลาด และรวมถึงสถาบันการเงิน ซึ่งล้วนเป็นสถาบันหรือหน่วยงานที่มีบทบาทต่อการส่งเสริมการดำเนินงานทางการตลาดให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น จากความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของสถาบันต่างๆ เหล่านี้
          ยกตัวอย่างเช่น การมอบหมายหน้าที่ด้านการโฆษณาแก่ตัวแทนโฆษณา ที่จะดำเนินการคิดสร้างสรรค์ และผลิตชิ้นงานโฆษณาให้มีความน่าสนใจได้มากกว่าการดำเนินงานโดยบุคลากรภายในองค์กรเอง เพราะตัวแทนโฆษณาจะมีมุมมองต่อสินค้าหรือบริการขององค์กรในด้านที่จะสามารถนำมากระตุ้นหรือจูงใจความสนใจของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้ดีกว่า รวมถึง ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแทนโฆษณากับสื่อโฆษณา ที่จะมีความสัมพันธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการเลือกช่วงเวลาหรือพื้นที่โฆษณา ที่เป็นประโยชน์ต่อการเผยแพร่ข้อมูลและข่าวสารของสินค้าหรือบริการขององค์กรได้ดีกว่า เหล่านี้เป็นต้น
          หรือสถาบันการเงินประเภทต่างๆ ที่นักการตลาดสามารถจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด ด้วยการประสานงานกับสถาบันการเงินในการให้สินเชื่อหรือหลักประกันแก่ผู้บริโภค ในการซื้อสินค้าหรือบริการขององค์กร ผ่านเครื่องมือทางการเงินชนิดต่างๆ ได้ เช่น การใช้บัตรเครดิตในการซื้อสินค้าหรือบริการ เป็นต้น
          5. สภาวะแวดล้อมของผู้บริโภคหรือตลาด
          ผู้บริโภคหรือตลาด คือ ปัจจัยแห่งความสำเร็จหรือล้มเหลวของการดำเนินงานทางการตลาด ซึ่งผู้บริหารการตลาดจะต้องทำความเข้าใจถึงกระบวนการตัดสินใจซื้อ และพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งเป็นเบื้องต้น ดังรายละเอียดในบทที่ 3 ที่ได้กล่าวถึงพฤติกรรมผู้บริโภคมาแล้ว และไม่ควรที่จะละเลยการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่คาดว่าจะเป็นผลให้พฤติกรรมการบริโภคในตลาดเปลี่ยนแปลงไปได้ แม้ว่าในขณะจัดทำแผนงานทางการตลาด จะได้ทำการศึกษาอย่างละเอียดมาแล้วก็ตาม ในระหว่างการดำเนินงานก็ยังควรที่จะศึกษาถึงพฤติกรรมในตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อพบการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในตลาด จะได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนแผนงานให้สอดคล้องกับตลาดได้ต่อไป
          สภาพแวดล้อมทางการตลาดในทุกระดับและทุกปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ล้วนมีผลกระทบต่อการดำเนินงานทางการตลาดขององค์กร ทั้งในทางตรงและทางอ้อม ในระดับความรุนแรงที่แตกต่างกันไป จึงล้วนเป็นที่สิ่งที่ผู้บริหารการตลาดในปัจจุบันจะต้องสร้างกระบวนการศึกษาและติดตามการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในตลาด จากปัจจัยต่างๆ เหล่านี้อย่างใกล้ชิด โดยนำเครื่องมือในการจัดเก็บข้อมูลทางการตลาดที่ได้เคยศึกษาในบทที่ 2 มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับการดำเนินงานทางการตลาดตามความเหมาะสม และสอดคล้องต่อสภาพการณ์ด้านต่างๆ ต่อไป
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น